สมัครสมาชิก ลงชื่อเข้าใช้
Discuz Thai หน้าแรก

โปรไฟล์ของ waru251 https://discuzthai.com/?25281 [บุ๊คมาร์ก] [คัดลอก] [แชร์] [RSS]

บล็อก

การดูแลเหงือกและฟัน

เข้าชม/อ่าน 1394 ครั้ง2011-5-17 01:09 |เลือกหมวดหมู่:โรคภัยไข้เจ็บ

ปัจจุบันคนไทยมีอัตราการเกิดโรคฟันผุ และโรคเหงือกอักเสบสูงมาก ทำให้สูญเสียฟันไปก่อนเวลาอันควร ทั้งที่ควรอยู่กับเราไปจนตลอดชีวิต สาเหตุที่สำคัญของโรคทั้งสองคือ แผ่นคราบจุลินทรีย์
แผ่นคราบจุลินทรีย์ เกิดจากจุลินทรีย์ในช่องปากทำปฏิกริยากับเศษอาหารและสารประกอบในน้ำลายรวมกันเป็นแผ่นคราบเหนียว ติดแน่นบนผิวฟัน จะเห็นเป็นคราบเมือกหรือรูฟันผุ แผ่นคราบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่วนประกอบสำคัญของแผ่นคราบนี้คือ เชื้อจุลินทรีย์นานาชนิด ซึ่งสามารถเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรดทำลายผิวฟันเป็นรูทำให้เกิดฟันผุ และผลิตสารพิษทำลายเหงือกทำให้เหงือกอักเสบและรวมกับสารแคลเซียมในน้ำลายตกตะกอน บนแผ่นคราบจุลินทรีย์ก่อให้เกิดหินน้ำลายหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ หินปูน หินน้ำลายนี้จะเกาะบริเวณคอฟันและผิวรากฟัน ซึ่งมีหลายสีตั้งแต่สีขาวขุ่นคล้ายสีฟัน สีน้ำตาล หรือสีดำ และมีผิวขรุขระทำให้เหงือกอักเสบ และมีการทำลายกระดูกรอบรากฟัน เกิดโรคปริทัศต์ขึ้น ถ้าปล่อยให้โรครุกลามต่อไป มีการทำลายกระดูกรอบรากฟันมากขึ้นจะทำให้ฟันโยก และหลุดไป

แรกเกิดถึง 6 ปี

ฟันและเหงือกจะถูกทำลายมากน้อยรวดเร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพช่องปากของแต่ละคน เนื่องจากแผ่นคราบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุสำคัญของฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ ดังนั้นการกำจัดหรือการควบคุมไม่ให้เกิดแผ่นคราบจุลินทรีย์จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคทั้งสองด้วยตัวเราเอง วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือ การแปรงฟันให้ถูกวิธีหลังทานอาหารทุกมื้อหรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอนร่วมกับการใช้เส้นใยขัดฟัน (Dental floss) ทำความสะอาดซอกฟัน การดูแลรักษาสุขภาพฟันและเหงือก ในแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกันบ้าง หลักง่าย ๆ ที่ควรปฏิบัติสำหรับคนในช่วงวัยต่าง ๆ มีดังนี้

แรกเกิดถึง 6 ปี
ฟันน้ำนมซี่แรกส่วนใหญ่เป็นฟันหน้าล่างจะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และซี่อื่น ๆ จะขึ้นตามมาเป็นระยะจนฟันน้ำนมขึ้นครบ 20 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 2 - 2 1/2 ปี (รูปที่ 1) และเด็กจะต้องใช้ฟันน้ำนมนี้ไปจนกว่ามีฟันแท้ขึ้นมาแทน

รูปแสดงฟันน้ำนม

เมื่อเป็นทารกควรให้นมเป็นเวลาและควรเป็นนมแม่ ถ้าให้นมแม่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้นมขวดก็ไม่ควรใช้นมข้นหวานแทนนมแม่ เพราะนมข้มหวานจะทำให้เกิดฟันผุไว้อย่างรวดเร็วและไม่มีคุณค่าทางอาหาร ภายหลังให้นมแม่หรือให้ดูดนมขวด ต้องหัดให้เด็กดูดน้ำตามทันที เพื่อล้างคราบนมออกจากผิวฟันป้องกันการเกิดฟันผุ อย่าปล่อยให้เด็กดูดนมจนหลับโดยมีขวดนมคาปากอยู่ จะทำให้ฟันผุทั้งปาก และผุรอบฟันทั้งซี่ ถ้าเป็นมากเด็กจะปวดฟันไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ดังนั้นการทำความสะอาดฟันเด็กจึงมีความจำเป็นมาก เมื่อฟันยังไม่ขึ้นหรือขึ้นเพียง 2-3 ซี่ ควรใช้ผ้าหรือสำลีชุบทำความสะอาดสันเหงือกบริเวณที่ยังไม่มีฟันขึ้นและบนตัวฟันที่ขึ้นแล้วหลังดูดนมทุกครั้ง หรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน และควรหาแปรงสีฟันเล็ก ๆ ที่ขนแปรงอ่อนแปรงฟันให้เด็ก และควรฝึกเด็กดื่มนมจากแก้วอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่อายุประมาณ 7-8 เดือน เพื่อให้พร้อมที่จะเปลี่ยนมาดื่มนมจากแก้ว หรือดูดหลอดได้เมื่ออายุ 1 ถึง 1 ปีครึ่ง เป็นอย่างช้า เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุจากการใช้นมขวดที่ไม่ถูกวิธี
การแปรงฟันผู้ปกครองควรแปรงให้เด็กตั้งแต่มีฟันน้ำนมขึ้นจนถึงอายุประมาณ 6-8 ปี เมื่อเด็กสามารถแปรงฟันด้วยตัวเองได้สะอาดพอจึงปล่อยให้เด็กแปรงฟันเอง และวิธีแปรงฟันน้ำนมจะต่างจากการแปรงฟันแท้ เนื่องจากผิวด้านข้างของฟันน้ำนมค่อนข้างแบนไม่ได้โค้งนูนเหมือนฟันแท้ การแปรงด้านข้างแก้ม และด้านข้างเพดาน หรือด้านข้างลิ้นจึงแปรงด้วยวิธีถูกลับไปกลับมาจากข้างหน้าไปข้างหลังและข้างหลังมาข้างหน้าประมาณแห่งละ 10 ครั้ง และแปรงแบบนี้กับฟันด้านบดเคี้ยวเช่นกัน
นอกจากนี้เพื่อเสริมให้เนื้อฟันแข็งแรงเพิ่มขึ้นให้เด็กรับประทานยาฟลูออไรด์ โดยแบ่งปริมาณที่จะรับประทานเป็นมิลลิกรับต่อวัน ตามช่วงอายุของเด็กและปริมาณฟลูออไรด์ที่มีอยู่ในน้ำดื่ม ดังนี้

อายุ ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม (มก./ลิตร)
น้อยกว่า 0.3 0.3-0.6 มากกว่า 0.6
6 เดือน - 3 ปี 0.25 มิลลิกรัม/วัน - -
3 - 6 ปี 0.5 มิลลิกรัม/วัน 0.25 มิลลิกรัม/วัน -
6 - 16 ปี 1 มิลลิกรัม/วัน 0.5 มิลลิกรัม/วัน -

อย่าให้เด็กรับประทานมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น เพราะถ้ารับประทานมากเกินไป แทนที่เนื้อฟันจะแข็งแรงกลับทำให้ฟันมีผิวฟันตกกระ หรือเป็นลายไม่สวยและกร่อน ดังนั้นก่อนรับประทานฟลูออไรด์ควรตรวจน้ำที่ใช้ดื่มอยู่ทุกวันว่ามีฟลูออกไรด์อยู่เท่าไรสิ่งที่ต้องระวังคือ ต้องเก็บฟลูออไรด์ในที่ซึ่งหยิบไม่ถึง และให้ผู้ใหญ่หยิบให้รับประทานทุกครั้ง ถ้าเด็กรับประทานฟลูออไรด์เกินขนาดจากการหยิบมารับประทานเอง ให้ดื่มนมมาก ๆ ทันที หรือทำให้อาเจียนแล้วนำส่งโรงพยาบาล เด็กเล็กที่ยังรับประทานยาเม็ดไม่ได้ให้ใช้ชนิดน้ำหยดเข้าปากโดยตรงหรือผสมน้ำ ถ้าใช้ชนิดเม็ดให้บดก่อนและละลายน้ำ เมื่อเด็กโตพอรับประทานยาเม็ดได้ ให้ใช้ชนิดเม็ดโดยให้อมทั้งเม็ดปล่อยให้ฟลูออไรด์ละลายช้า ๆ ในปากห้ามเคี้ยวเพื่อให้ฟลูออไรด์ซึมเข้าผิวฟัน และควรรับประทานขณะท้องว่างเพื่อให้มีการดูดซึมได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปจากการกลืนยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ให้ผู้ใหญ่บีบยาสีฟันให้ในขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว (น้อยกว่า 5 มม.) สำหรับเด็กเล็กที่ยังบ้วนน้ำไม่เป็นไม่แนะนำให้ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์

ช่วงอายุ 6-12 ปี
ฟันแท้ซี่แรกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 ปี เป็นฟันกรามซี่ที่ 1 ฟันซี่นี้ไม่ได้ขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนม แต่จะขึ้นต่อท้ายฟันน้ำนมซี่ในสุด เท่าที่พบส่วนใหญ่ฟันซี่นี้มักจะผุและถูกถอนทิ้ง เนื่องจากผู้ปกครองหลงคิดว่าเป็นฟันน้ำนมจึงไม่สนใจดูแล ฟันแท้จะทยอยขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมซึ่งเล็กไปสำหรับใบหน้าที่ใหญ่ขึ้นจนครบเมื่ออายุประมาณ 12 ปี ส่วนฟันกรามซี่ที่ 2 จะขึ้นต่อหลังฟันกรามซี่ที่ 1 เมื่อเด็กอายุประมาณ 12-13 ปี ทำให้เด็กมีฟันแท้เป็น 28 ซี่ อีก 4 ซี่สุดท้ายคือฟันกรามซี่ที่ 3 จะขึ้นหลังฟันกรามซี่ที่ 2 เมื่อเด็กอายุประมาณ 17-21 ปี ทำให้ฟันครบ 32 ซี่ (รูปที่ 2)

รูปแสดงฟันแท้

การทำความสะอาดฟัน ควรเริ่มหัดให้เด็กแปรงฟันด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง ถ้าเด็กยังทำไม่ได้ก็ต้องแปรงฟันให้เด็กไปก่อนจนเด็กสามารถแปรงเองได้อย่างถูกต้อง จึงปล่อยให้เด็กแปรงเอง ซึ่งเด็กจะทำได้เมื่ออายุประมาณ 6-8 ปี ช่วงอายุนี้ยังคงแปรงถูกลับไปกลับมาเหมือนเดิม เมื่อฟันแท้ขึ้นมาทดแทนฟันน้ำนมครบแล้วประมาณ 11-12 ปี ถึงเริ่มให้หัดแปรงฟันแบบผู้ใหญ่ และควรแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ หรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน
เมื่อเด็กโตพอที่จะหัดใช้เส้นใยขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน ก็สอนให้ใช้เส้นใยขัดฟันด้วยก่อนแปรงฟัน เพราะการแปรงฟันอย่างเดียวไม่สามารถเข้าไปทำความสะอาดซอกฟันได้อย่างสมบูรณ์

เมื่อฟันแท้ขึ้นครบ

การแปรงฟันจะเปลี่ยนวิธีการแปรงด้านข้างของฟัน โดยด้านบดเคี้ยวยังคงแปรงถูไปถูมาจากหน้าไปหลัง และหลังมาหน้าเหมือนเดิม การแปรงด้านข้างให้วางขนแปรงบริเวณคอฟันและขอบเหงือกเอียงทำมุม 45 ํ กับแกนฟันคลึงเป็นวงกลมเล็ก ๆ แล้วปัดลงถ้าเป็นฟันบนและปัดขึ้นถ้าเป็นฟันล่าง ถือเป็น 1 ครั้ง แปรงซ้ำบริเวณเดิม 4-5 ครั้ง หลักสำคัญคือการแปรงฟันต้องแปรงฟันให้ครบทุกซี่ ดังนั้นต้องเริ่มจากด้านใดด้านหนึ่งก่อนแล้วแปรงไล่ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกซี่ เช่น เริ่มแปรงฟันบนด้านข้างแก้มข้างขวาบริเวณฟันกรามซี่ในสุด 2-3 ซี่ 4-5 ครั้ง ตามวิธีข้างต้น จากนั้นเลื่อนมาข้างหน้าบริเวณฟันกรามน้อยและฟันกรามซี่ที่ 1 ด้านขวาถัดมา แล้วเลื่อนไปฟันเขี้ยวและฟันหน้าด้านขวาข้ามไปฟันหน้าด้านซ้ายและฟันเขี้ยวจนไปสุดที่ฟันกรามซี่สุดท้ายด้านซ้ายมือ จากนี้วกเข้าไปแปรงด้านเพดานของฟันกรามบนซี่ในสุดด้านซ้ายมือ แล้วไล่มาเรื่อยเหมือนด้านข้างแก้มจนไปสุดที่ฟันกรามบนซี่สุดท้ายด้านขวามือ และแปรงเช่นเดียวกันในฟันล่าง การแปรงฟันด้วยวิธีดังกล่าวจะใช้เวลานานพอสมควรประมาณ 5-10 นาที

การทำความสะอาดซอกฟันด้วยเส้นใยขัดฟัน

เนื่องจากการแปรงฟันไม่สามารถทำความสะอาดทางด้านข้างของฟันได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงต้องใช้เส้นใยขัดฟันในการทำความสะอาดซอกฟัน โดยทำก่อนการแปรงฟัน มีวิธีการทำความสะอาดดังนี้
ใช้เส้นใยขัดฟันยาวประมาณ 1 ฟุต พันเส้นใยที่นิ้วกลางของมือทั้งสองให้เหลือความยาวระหว่างนิ้วกลางทั้งสองประมาณ 4-5 นิ้ว ในฟันบนให้ใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ ส่วนฟันล่างให้ใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้างช่วยบังคับทิศทางที่จะทำความสะอาดซอกฟันค่อย ๆ เคลื่อนเส้นใยผ่านซอกฟัน ห้ามกดเส้นใยผ่านซอกฟันลงไปแรง ๆ เพราะจะผ่านลงไปบาดเหงือกได้ เมื่อเส้นใยผ่านลงไปอยู่ในซอกฟันแล้ว ให้เส้นใยโอบฟันครึ่งซี่แนบกับคอฟัน และลงไปในซอกระหว่างฟันกับเหงือกโดยไม่บาดเหงือกและไม่รู้สึกเจ็บ แล้วขยับขึ้นลงจากแนวเหงือกขึ้นหรือลงไปด้านบดเคี้ยวประมาณ 4-5 ครั้ง โดยทำเช่นนี้ทั้งฟันที่อยู่ด้านหน้าและฟันที่อยู่ด้านหลังของซอกฟันเดียวกันในฟันหลัง และทำฟันที่อยู่ด้านซ้ายและฟันที่อยู่ด้านขวาของซอกฟันเดียวกันในฟันหน้า ทำเช่นนี้ให้ครบทุกซอกฟัน รวมทั้งด้านในสุดของฟันซี่สุดท้ายด้วย

ผู้ที่มีเหงือกร่นและรากฟันโผล่

ผู้ที่เป็นโรคปริทัศน์มากจนมีฟันโยกและเหงือกอักเสบเป็นหนองมีอาการปวด ถ้าผู้ป่วยต้องการเก็บฟันของตัวเองไว้ ต้องทำการรักษาโรคเหงือกโดยการผ่าตัดเหงือกและกรอแต่งกระดูก ที่อยู่รอบรากฟันที่มีการละลายตัวทำให้รูปร่างผิดไปจากที่ควรเป็น ให้มีรูปร่างถูกต้อง วิธีการนี้จะทำให้กระดูกละลายเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย หรือวิธีที่ 2 ถ้าต้องการให้มีกระดูกรอบรากฟันมากขึ้นก็ทำการปลูกกระดูกโดยใส่สารกระดูกลงไปทดแทนกระดูกที่ละลายไป เมื่อผ่าตัดเสร็จจะเกิดช่องระหว่างฟันแต่ละซี่ โดยเฉพาะวิธีแรกที่มีการกรอแต่งกระดูก ส่วนวิธีการเติมสารกระดูกมักจะไม่มีช่องระหว่างฟัน แต่อาจจะเกิดช่องระหว่างฟันแต่ละซี่ได้บ้างในบางครั้ง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะเก็บฟันไว้อยู่ที่การทำความสะอาดฟัน และเหงือกของผู้ป่วยเอง โดยการแปรงฟันที่ถูกวิธี ใช้เส้นใยขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน และต้องใช้แปรงซอกฟันโดยเฉพาะทำความสะอาดซอกฟันร่วมด้วย ซึ่งต้องใช้แปรงซอกฟันสอดเข้าไปแปรงทุกซอกฟันที่เกิดขึ้น มีผู้ป่วยได้เล่าให้ฟังว่าเคยผ่าตัดเหงือกและตกแต่งกระดูก ทำให้เหงือกร่นมีช่องระหว่างฟันเกิดขึ้น ในครั้งแรกไม่ได้สนใจการทำความสะอาดซอกฟัน และการแปรงฟันที่ถูกวิธี ทำให้การรักษาไม่ได้ผล ฟันโยกมากขึ้น และเหงือกอักเสบมากขึ้น แต่อยากเก็บฟันไว้ จึงยอมผ่าตัดซ้ำ และยอมทำความสะอาดซอกฟันและแปรงฟันให้ถูกวิธีตามที่หมอแนะนำ เขาบอกว่าต้องใช้เวลาทำนานถึง 1 ชม. ในการทำความสะอาดให้หมดทั้งปากในแต่ละครั้ง จนหลายเดือนต่อมาทำชำนาญขึ้นทำให้ลดเวลาลงเหลือ 40 นาทีต่อครั้ง แต่ผลที่ได้ก็คุ้มเพราะฟันที่เคยโยกน้อย ๆ ปัจจุบันแน่นไม่โยกแล้ว ฟันที่เคยโยกมากก็โยกเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าไม่ทำความสะอาดให้ดี เพียงไม่กี่วันฟันก็จะมีอาการโยกมากขึ้นทันที และเริ่มเจ็บเหงือก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการแปรงฟันที่ถูกวิธี และการทำความสะอาดซอกฟันด้วยเส้นใยขัดฟันและแปรงซอกฟันมีความสำคัญต่อการเก็บรักษาฟันในผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์

อืม..ดีๆ ใช้ได้

อะไรก็ไม่รู้

เห็นด้วยๆ

ซึ้งจังเลย

ขำฮาตรึม

ความคิดเห็น (0 ความคิดเห็น)

facelist doodle วาดภาพ

คุณต้องลงชื่อเข้าใช้ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ลงชื่อเข้าใช้ | สมัครสมาชิก

รายชื่อผู้กระทำผิด|Archiver|ดิสคัส ไทย Follow us: Become a fan on facebook. Follow us on Twitter.

GMT+7, 2024-5-2 15:38

Powered by Discuz! X3.4, Rev.66

Copyright © 2001-2021 Tencent Cloud. Licensed

ขึ้นไปด้านบน